เมืองบาดาลคำชะโนด กับตำนาน “พญานาค”

24816
ทางเดินพญานาคอันศักดิ์สิทธิ์นำพาไปสู่เกาะคำชะโนด (ขอบคุณภาพประกอบจากเว็บ palungdham)

เคยได้ยินเรื่องเล่าเกี่ยวกับพญานาคที่ไปปรากฎร่างตามสถานที่ต่างๆ ในแถบจังหวัดฝั่งภาคอีสานกันใช่ไหม?

นั่น แหละที่ทำให้ทุกคืนวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ทีไร ที่จ.หนองคายเป็นต้องมีผู้คนแห่กันไปดูดวงไฟพญานาคกันอย่างคึกคักครึกครื้น ริมฝั่งแม่น้ำโขง ที่ว่าครึกครื้นก็เพราะมีบรรดากองเชียร์ไปลุ้นนับดวงไฟที่พุ่งขึ้นมาจากท้อง น้ำกันอย่างเนืองแน่น สองฝากฝั่งโขงมีทั้งกองเชียร์ชาวไทยและชาวลาวไปเย้วๆ พร้อมเพรียงกัน ในขณะที่ดวงไฟพญานาคพุ่งขึ้นมาจากน้ำ

ท่านพญานาคนี้ หนอ ช่วยให้เศรษฐกิจการท่องเที่ยวของชาวหนองคายได้คึกคักครึกครื้น เงินทองลื่นไหลมาเทมาดีจริงๆ ถึงแม้บางปีจะมีนักท่องเที่ยวบางตาไปหน่อย แต่ก็ถือว่าคนเที่ยวก็ยังมีมาไม่ขาดหาย ข้าวของขายได้เป็นกอบเป็นกำพอสมควร

เว้า ไปถึงเรื่องพญานาคก็เพราะ จะพาไปมององศา แลลิปดากันที่พิกัด 17 องศา 42 ลิปดา 6 พิลิปดาเหนือ มองจากกูเกิ้ลเอิร์ธลงไป นั่นคือเขตอำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี จุดนี้เองที่เป็นที่มาของเรื่องเล่า….เรื่องราวพญานาคและวังนาคินทร์แห่ง คำชะโนด

วังนาคินทร์คำชะโนด หรือที่ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า เมืองชะโนด ตั้ง อยู่ระหว่างรอยต่อของตำบลวังทอง ตำบลบ้านม่วง และตำบลบ้านจันทร์ อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี คำชะโนดมีลักษณะคล้ายเกาะเล็กๆ บนพื้นที่ราว 20 ไร่ เฉพาะพื้นที่นี้จะมีป่าคำชะโนดขึ้นรกทึบ เนื่องจากบริเวณนั้นมีต้นชะโนด (อยู่ในตระกูลเดียวกับปาล์ม คล้ายๆ ต้นตาล ต้นหมาก หรือไม่ก็ต้นมะพร้าว แต่สูงกว่า) ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น มองไปทางไหนก็จะเห็นแต่ทิวชะโนดสูงเด่นเป็นสง่า ในราวปี 2520 ชาวบ้านได้สำรวจจำนวนต้นชะโนดในป่าแห่งนี้ มีอยู่ราว 2,000 กว่าต้น จนมาถึงปี 2544 ชาวบ้านสำรวจอีกครั้งพบว่าต้นชะโนดลดลงเหลือเพียง 1,865 ต้น ถึงกระนั้นที่นี่ก็ยังคงความเย็นชื้นและให้บรรยากาศวังเวงเหมือนเดิม แต่ที่น่าแปลกก็คือ หากพ้นจากดงชะโนดแห่งนี้ไป ห่างกันแค่ไม่ถึง 300 เมตร ก็จะไม่มีต้นชะโนดปรากฏให้เห็นแม้แต่ต้นเดียว และที่แห่งนี่แหละที่เป็นที่มาของความแปลกประหลาด ลึกลับ ระคนน่าสงสัยใคร่รู้หลากหลายเรื่องราว

มีเรื่องเล่าต่อกันมาว่า เจ้าพ่อพญาศรีสุทโธเป็นพญานาค ครองเมืองหนองกระแสครึ่งหนึ่ง และอีกครึ่งหนึ่งมีพญานาคอีกตัวปกครองอยู่ มีชื่อว่า สุวรรณนาค ทั้งสองพญานาคมีบริวารอยู่ฝ่ายละ 5,000 ตัว เช่นเดียวกัน พญานาคทั้งสองอยู่ร่วมกันด้วยความรัก ความสามัคคี มีอาหารการกินก็แบ่งปันกันกิน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ภายใต้ข้อตกลงข้อหนึ่งว่า ถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดออกไปล่าเนื้อหาอาหาร อีกฝ่ายหนึ่งก็จะต้องไม่ออกไป เพราะเกรงว่าบริวารไพร่พลอาจจะกระทบกระทั่งกันได้ และอาจเกิดการรบรากันขึ้น ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดก็ตามที่ออกไปล่าเนื้อหาอาหาร ก็จะต้องนำอาหารที่หามาได้นั้น แบ่งกันกินฝ่ายละครึ่ง

ด้วยสนธิ สัญญาสันติภาพดังว่านี้ ทำให้พญานาคทั้งสองเมืองสองฝ่ายอยู่ด้วยกันอย่างสงบสุขตลอดมา จนกระทั่งวันหนึ่ง สุทโธนาคได้พาบริวารไพร่พลออกไปล่าเนื้อหาอาหาร ได้ช้างมาเป็นอาหาร กลับมาถึงจึงได้แบ่งเนื้อช้างให้สุวรรณนาคครึ่งหนึ่ง พร้อมกับนำขนของช้างไปให้ดูเพื่อเป็นหลักฐาน ต่างฝ่ายต่างกินเนื้ออย่างอิ่มหนำสำราญดี วันต่อมาสุวรรณนาคก็ได้พาบริวารไพร่พลออกไปล่าเนื้อหาอาหารได้เม่นมาตัว หนึ่ง สุวรรณนาคจึงแบ่งให้สุทโธนาคครึ่งหนึ่งเหมือนเดิม พร้อมทั้งนำขนของเม่นไปให้ดู ปรากฎว่าเม่นตัวเล็กนิดเดียว แต่ขนของเม่นดันใหญ่เกินตัว ครั้นเมื่อแบ่งเนื้อเม่นให้สุทโธนาค จึงแบ่งออกมาได้น้อย สุทโธนาคพิจารณาดูขนเม่น ก็เห็นว่าขนาดขนช้างเล็กนิดเดียวตัวยังใหญ่โตขนาดนั้น แต่นี่ขนเม่นออกจะใหญ่ขนาดนี้ ตัวเม่นเล่าจะใหญ่โตขนาดไหน…..สุทโธนาคเชื่อสนิทใจว่า ถึงอย่างไรตัวเม่นก็จะต้องใหญ่กว่าช้างอย่างแน่นอน

เมื่อคิดได้ อย่างนี้ จึงให้เสนาอำมาตย์นำเนื้อเม่นที่ได้รับส่วนแบ่งครึ่งหนึ่งไปคืนให้สุวรรณนาค พร้อมกับฝากบอกไปว่า “ไม่ขอรับอาหารส่วนแบ่งที่ไม่เป็นธรรมจากเพื่อนที่ไม่ซื่อสัตย์” สุวรรณนาคเมื่อได้ยินดังนั้น จึงรีบเดินทางไปพบสุทโธนาคเพื่อชี้แจงให้ทราบว่าเม่นถึงแม้ขนมันจะใหญ่โต แต่ตัวเล็กนิดเดียว ขอให้เพื่อนรับเนื้อเม่นไว้เป็นอาหารเสียเถิด แต่ไม่ว่าสุวรรณนาคจะพูดเท่าไร สุทโธนาคก็ไม่เชื่ออยู่ดี ผลสุดท้ายทั้งสองฝ่ายจึงประกาศสงครามกัน ตามตำนานเล่าว่า พญานาคทั้งสองรบกันอยู่นานถึง 7 ปีจนต่างฝ่ายต่างเมื่อยล้า เพราะต่างฝ่ายต่างหวังจะเอาชนะคะคานกันให้ได้ เพื่อจะครองความเป็นใหญ่ในหนองกระแสเพียงคนเดียว ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ในบริเวณหนองกระแสและบริเวณรอบ ๆ เกิดความเสียหายเดือดร้อนไปตามๆ กัน เป็นผลกระทบจากการแย่งชิงอำนาจกันของสองพญานาคนั่นเอง (คุ้นๆ จังนิ)

เมื่อ เกิดรบกันรุนแรงเลยทำให้พื้นโลกสั่นสะเทือนเกิดแผ่นดินไหวไปทั่วทั้งสามภพ ความได้ทราบไปถึง พระ อินทราธิราชผู้เป็นใหญ่ เทวดาน้อยใหญ่ทั้งหลายก็ได้ไปเข้าเฝ้าพระอินทร์เพื่อร้องทุกข์และเล่า เหตุการณ์ให้ฟัง เมื่อพระอินทร์ได้ฟังดังนั้นจึงคิดหาวิธีการให้พญานาคทั้งสองหยุดรบกันเพื่อ ความสงบสุขของไตรภพ ตัวท่านจึงได้เสด็จจากดาวดึงส์ลงมายังเมืองมนุษย์โลกที่หนองกระแส แล้วตรัสเป็นเทวราชโองการว่า

“ให้ท่านทั้งสองหยุดรบกันเดี๋ยวนี้! การทำสงครามครั้งนี้ถือว่าทุกฝ่ายเสมอกัน และขอประกาศให้หนองกระแสเป็นเขตปลอดสงคราม ให้เจ้าทั้งสองแยกกันไปสร้างแม่น้ำคนละสายออกจากหนองกระแส หากใครสร้างถึงทะเลก่อนจะ ให้ปลาบึกมาอยู่ในแม่น้ำแห่งนั้น” ก็เป็นอันว่าการทำสงครามครั้งนี้สองฝ่ายเสมอกันไม่มีใครแพ้ใครชนะ และเพื่อป้องกันการทะเลาะวิวาทของพญานาคทั้งสองอีก พระอินทร์จึงให้เอาภูเขาดงพญาไฟเป็นเขตกั้นคนละฝ่าย ใครข้ามไปราวีรุกรานกัน ก็ขอให้ไฟจากภูเขาดงพญาไฟไหม้ฝ่ายนั้นเป็นจุลไป

เมื่อพระอินทร์ ตรัสเป็นเทวราชโองการดังกล่าวแล้ว สุทโธนาคจึงพาบริวารไพร่พลอพยพออกจากหนองกระแสไปสร้างแม่น้ำ โดยมุ่งไปทางทิศตะวันออกของหนองกระแส เห็นตรงไหนเป็นภูเขาคดโค้ง ก็เร่งขุดสร้างทางน้ำไปตามภูเขา บางทีก็ลอดภูเขาไปบ้างตามความยาก-ง่ายในการสร้าง ด้วยความที่สุทโธนาคเป็นคนใจร้อน ก็เร่งสร้างไปจนเสร็จในเร็ววัน แม่น้ำนี้มีชื่อเรียกว่า “แม่น้ำโขง”
คำว่า “โขง” จึงมาจากคำว่า “โค้ง” ในตำนานนี้ ซึ่งหมายถึงเส้นทางที่คดโค้งคดเคี้ยวไปมานั่นเอง ส่วนทางฝั่งลาวเรียกว่า “แม่น้ำของ”
ด้าน สุวรรณนาค เมื่อได้รับเทวราช โองการดังกล่าว จึงพาบริวารไพร่พลอพยพออกจากหนองกระแส สร้างแม่น้ำมุ่งไปทางทิศใต้ ด้วยเหตุที่สุวรรณนาคเป็นคนตรง พิถีพิถัน และเป็นผู้มีใจเย็น การสร้างแม่น้ำจึงมีความตั้งมั่นว่าจะต้องทำให้ตรง และคิดว่าเส้นทางตรงๆ นี้น่าจะทำให้ถึงจุดหมายปลายทางก่อน ตนเองจะได้เป็นผู้ชนะ แม่น้ำสายนี้เรียกชื่อว่า “แม่น้ำน่าน” ซึ่งแม้ในปัจจุบันนี้ก็ถือกันว่าแม่น้ำน่านเป็นแม่น้ำที่มีความตรงของเส้น ทางมากกว่าแม่น้ำทุกสายในเมืองไทย

การสร้างแม่น้ำแข่งกันในครั้ง นั้น ปรากฎว่าสุทโธนาคสร้างแม่น้ำโขงเสร็จก่อน ตามสัญญาของพระอินทร์ ผู้ชนะจึงได้ปลาบึกไปอยู่ในแม่น้ำโขงแห่งเดียวในโลก ตามตำนานที่เล่ากันต่อๆ มายังบอกด้วยว่า น้ำในแม่น้ำโขง กับน้ำในแม่น้ำน่านนั้น จะนำมาผสมกันไม่ได้ ถ้าผสมใส่ขวดเดียวกันจะทำให้ขวดแตกทันที ….ก็ไม่ทราบว่าได้มีผู้ทดลองทำดังกล่าวหรือยัง จริงหรือไม่ข้อนี้ เห็นทีอิชั้นคงต้องหาทางทดลองสักครั้งให้จงได้(แต่ตอนนี้ติดไว้ก่อน ทดลองแล้วได้ผลเช่นไรจะนำมาเล่าสู่กันฟังเด้อ!)

เรื่องยังไม่จบแค่ นั้น สุทโธนาคเมื่อสร้างแม่น้ำโขงแถมได้ฝูงปลาบึกตามสัญญาของผู้ชนะแล้ว ก็ยังแผลงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ต่อ ด้วยการเหาะไปเฝ้าพระอินทร์ ณ ดาวดึงส์ แล้วทูลถามพระอินทร์ว่า “ตัวข้าเป็นชาติเชื้อพญานาคจะอยู่บนโลกมนุษย์นานเกินไปก็ไม่ได้ จึงขอทางขึ้นลงระหว่างบาดาลกับโลกมนุษย์เอาไว้ 3 แห่งได้ไหมพะย่ะค่ะ”….ห้าวเป้งสุดๆ ไหมล่ะ? พระอินทร์ผู้เป็นใหญ่คงเห็นว่า เมื่อเอ็งกล้าขอ ข้าก็กล้าให้ จึงอนุญาตให้มีทางสำหรับขึ้นๆ ลงๆ ของพญา สุทโธนาคเอาไว้ 3 แห่ง คือ 1.ที่ธาตุหลวงนครเวียงจันทน์ 2.ที่หนองคันแท และ 3.ที่พรหมประกายโลก (หรือที่คำชะโนดนั่นเอง)

ทางที่ 1-2 นั้นสุทโธนาคเอาไว้เป็นทางขึ้นลงสู่เมืองบาดาลของพญานาคทั้งหลายเท่านั้น ส่วนทางที่ 3 คือพรหมประกายโลกหรือคำชะโนดนั้น สุทโธนาคได้ไปตั้งบ้านเมืองครอบครองเฝ้าอยู่ที่นั่น ซึ่งมีต้นชะโนดขึ้นเป็นสัญลักษณ์ และขึ้นเฉพาะที่นี่ที่เดียวเท่านั้นด้วย ลักษณะของต้นชะโนดเป็นการเอาต้นมะพร้าว ต้นหมาก และต้นตาลมาผสมอย่างละเท่าๆ กัน และให้ถือเป็นต้นไม้บรรพกาลแก่สุทโธนาค โดยแบ่งว่าข้างขึ้น 15 วัน สุทโธนาคและบริวารจะกลายร่างเป็นมนุษย์เรียกชื่อว่า “เจ้าพ่อพญาศรีสุทโธ” มีวังนาคินทร์คำชะโนดเป็นถิ่นอาศัย และอีก15 วัน ในข้างแรม สุทโธนาคและบริวารจะกลายร่างเป็นนาค เรียกชื่อว่า “พญานาคราชศรีสุทโธ” อาศัยอยู่ที่เมืองบาดาล

ตั้งแต่นั้นมา พี่น้องชาวบ้านม่วง บ้านเมืองไพร บ้านวังทอง อำเภอบ้านดุง ก็มักจะพบเห็นชาวเมืองคำชะโนดไปเที่ยวงานบุญประจำปี หรือบุญมหาชาติ ที่ชาวบ้านเรียกว่า ‘บุญพระเวท’ ทั้งผู้หญิงและผู้ชายอยู่บ่อยครั้ง บางทีก็จะมีผู้หญิงไปยืมเครื่องมือทอหูกเพื่อไปทอผ้าอยู่เป็นประจำ และยังมีเรื่องชวนขนหัวลุกเมื่อยี่สิบปีก่อน ที่เล่ากันว่ามีคนมาจ้างหนังเร่ของนายธงชัย แสงชัย เจ้าของหนังเร่ในตัวจังหวัดอุดรฯ ไปฉายที่คำชะโนด แต่ปรากฏว่าพอไปถึงที่นั้นแล้วกลับไม่มีงานใดๆ ผู้คนที่มาดูหนังก็แต่งตัวเฉพาะสีดำและขาวเท่านั้น แถมยังนั่งดูกันเงียบๆ แม้จะเป็นหนังตลกตาม ตามเงื่อนไขเขาจะต้องฉายหนังให้จบก่อนตี 4 และต้องรีบเก็บของออกจากหมู่บ้านก่อนฟ้าสางและห้ามหันกลับมาดู ตามข้อตกลงที่ผู้ว่าจ้างลึกลับกำหนดมา ครั้นพอหนังฉายเสร็จพอขับรถออกมาแล้วหันไปดู ก็พบว่าที่นั่นไม่มีใครอยู่เลย ไม่มีหมู่บ้าน ถามคนแถวนั้นก็บอกว่าวัดไม่ได้จัดงานอะไร แถมพื้นที่สำหรับจะขึงจอหนังกลางแปลงก็ยังไม่มีด้วยซ้ำ เพราะที่ตรงนั้นล้วนเป็นป่าชะโนดขึ้นจนรกทึบเต็มไปหมด!?

ปาฏิหาริย์ อีกครั้งหนึ่งเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2519 ครั้งนั้นเกิดน้ำท่วมใหญ่ในที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง (รวมทั้งท้องที่อำเภอบ้านดุง) แต่น่าประหลาดที่น้ำกลับไม่ท่วมพื้นที่เกาะคำชะโนดเลยแม้แต่น้อย แถมมีข้อสังเกตว่าผืนดินที่คำชะโนดนั้นเหมือนลอยอยู่ ไม่ว่าน้ำจะท่วมหนักเท่าใด แม้ว่าพื้นที่โดยรอบจะถูกน้ำท่วมจนหมด แต่ก็ไม่สามารถท่วมเกาะคำชะโนดได้

ปัจจุบันคำชะโนดกลายเป็นสถานที่ ศักดิ์สิทธิ์ ชาวบ้านดุงได้ช่วยกันต่อสะพานทางเข้าเมืองชะโนด เพื่อให้ง่ายต่อการไปสักการะบูชาพญานาคตามความเชื่อ รวมทั้งยังเข้าไปปรับปรุงบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่กลางเมืองคำชะโนด ซึ่งมีน้ำซึมออกมาตลอดเวลาไม่เคยแห้งนั้น ให้เป็นสถานที่เคารพสักการะของชาวอำเภอบ้านดุง และจังหวัดอื่นๆ ด้วย ว่ากันว่า น้ำจากบ่อศักดิ์สิทธิ์คำชะโนดนี้ ทางจังหวัดอุดรธานียังนำไปร่วมงานพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ ณ มณฑลพระราชพิธีท้องสนามหลวง ที่กรุงเทพฯ เมื่อปี 2530 และในปี 2533 ชาวบ้านในอำเภอบ้านดุงยังช่วยกันระดมทุนสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กแทน สะพานไม้อันเก่า เข้าสู่เมืองชะโนด ทำให้บรรดานักท่องเที่ยวผู้สนใจของแปลกเรื่องประหลาด หรือบรรดาคอหวยทั้งหลายพากันมาสักการะบูชา บ้างก็มาขอเลขเด็ด ไปจนถึงมาเพื่อพิสูจน์ความจริงบางอย่างตามตำนานพญานาคที่เล่าลือกัน บางคนก็มาวิเคราะห์ว่าดินที่นี่อาจเป็นดินพรุที่ทำให้ชุ่มน้ำอยู่ตลอด แต่น้ำไม่ท่วม กลับดูเหมือนว่ามันลอยขึ้นตามระดับน้ำที่สูงขึ้นได้เอง

เอา เป็นว่าเมืองคำชะโนด ถือเป็นมุมแปลกๆ อีกมุมหนึ่งของโลกที่ทุกวันนี้ยังคงเต็มไปด้วยเรื่องลึกลับดำมืดอันเป็น ที่มาของคำถามถึงปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเฉพาะพื้นที่แห่งนี้แห่งเดียวเท่านั้นในโลก ไม่ว่าจะเป็น เมืองบาดาล พญานาค ต้นชะโนด และเกาะที่ไม่จมน้ำ!