ลูกปัดโบราณที่พบในหลุมฝังศพของชาวนอร์ดิกอายุ 3,400 ปี ทำโดยช่างทำแก้วของฟาโรห์ตุตันคามุน

243
ลูกปัดแก้วอันวิจิตรที่พบในงานฝังศพยุคสำริดของเดนมาร์กที่มีอายุ 3400 ปีที่แล้วมาจากอียิปต์โบราณ
ลูกปัดแก้วอันวิจิตรที่พบในงานฝังศพยุคสำริดของเดนมาร์กที่มีอายุ 3400 ปีที่แล้วกลับกลายเป็นว่ามาจากอียิปต์โบราณ / Credit: Roberto Fortuna and Kira Ursem

ลูกปัดแก้วโคบอลต์โบราณที่พบในสุสานยุคสำริดของสแกนดิเนเวีย เผยให้เห็นความเชื่อมโยงทางการค้าระหว่างชาวอียิปต์และเมโสโปเตเมียเมื่อ 3,400 ปีก่อน และพิธีกรรมทางศาสนาที่คล้ายคลึงกัน

ลูกปัดแก้วอันวิจิตรที่พบในการฝังศพยุคสำริดของเดนมาร์กที่มีอายุ 3400 ปีกลับกลายเป็นว่ามาจากอียิปต์โบราณ อันที่จริงแล้วมาจากโรงงานเดียวกันที่ทำลูกปัดสีน้ำเงินซึ่งฝังอยู่กับตุตันคามุนกษัตริย์เด็กผู้มีชื่อเสียง การค้นพบนี้พิสูจน์ให้เห็นว่ามีการกำหนดเส้นทางการค้าระหว่างภูมิภาคเหนือไกล (far north) และเลแวนต์เมื่อต้นศตวรรษที่ 13 ก่อนคริสตศักราช

ลูกปัดแก้วยี่สิบสามเม็ดที่พบในสุสานยุคสำริดของเดนมาร์กโดยทีมนักโบราณคดีชาวเดนมาร์กและฝรั่งเศสเป็น “สีน้ำเงิน” ซึ่งเป็นสีที่หายากในสมัยโบราณ

“ไพฑูรย์เป็นอัญมณีล้ำค่าที่สุดในนอร์ดิกยุคตอนปลายสำริด แก้วสีฟ้าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดอันดับถัดไป” เจเนตต์ วาร์เบิร์ก (Jeanette Varberg) นักโบราณคดีซึ่งเกี่ยวข้องกับการวิจัยนี้กล่าวกับ ฮาอะเร็ตส์ สื่ออิสราเอล

ลูกปัดสีน้ำเงินนี้ไม่ได้เป็นเพียงหลักฐานเดียวของการค้าระหว่างเดนมาร์กโบราณและภูมิภาคตะวันออกกลาง มีการพบลูกปัดแก้วทั้งหมด 271 เม็ดในสถานที่ฝังศพ 51 แห่งในเดนมาร์ก ซึ่งส่วนใหญ่มาจากเมืองนิปปูร์ ของเมโสโปเตเมีย ซึ่งในปัจจุบันตั้งอยู่ประมาณ 50 กม. ทางตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงแบกแดด ประเทศอิรัก

หนึ่งในลูกปัดแก้วสีน้ำเงินถูกพบที่ศพของหญิงสาวยุคสำริดซึ่งฝังอยู่ที่เมืองโอลบี้ ประเทศเดนมาร์ก ในโลงศพไม้โอ๊ค

มีการพบลูกปัดสีน้ำเงินอีกชิ้นในสร้อยคอพร้อมกับอำพันสี่ชิ้นในการฝังศพของผู้หญิงอีกคน

ลูกปัดแก้วสีน้ำเงิน 23 เม็ดได้รับการวิเคราะห์โดยใช้พลาสมา – สเปกโตรเมตรี (plasma-spectrometry) ซึ่งเป็นเทคนิคที่ช่วยให้สามารถเปรียบเทียบธาตุในลูกปัดได้โดยไม่ทำลายพวกมัน

หนึ่งในลูกปัดแก้วสีน้ำเงินถูกพบที่ศพของหญิงสาวยุคสำริดซึ่งฝังอยู่ที่เมืองโอลบี้ ประเทศเดนมาร์ก ในโลงศพไม้โอ๊ค
หนึ่งในลูกปัดแก้วสีน้ำเงินถูกพบที่ศพของหญิงสาวยุคสำริดซึ่งฝังอยู่ที่เมืองโอลบี้ ประเทศเดนมาร์ก ในโลงศพไม้โอ๊ค /Credit: Roberto Fortuna and Kira Ulsem

การวิเคราะห์พบว่า ลูกปัดสีฟ้าที่ฝังอยู่กับผู้หญิงนั้นมีต้นกำเนิดมาจากโรงงานแก้วเดียวกันในอมาร์นา (Amarna) ซึ่งประดับประดากษัตริย์ตุตันคามุนในงานศพของเขาในปี 1323 ก่อนคริสตศักราช โดย เดธมาสก์ (Deathmask) สีทอง หรือหน้ากากแห่งความตายของฟาโรห์ตุตันคามุน มีลูกปัดแก้วสีน้ำเงินในผ้าโพกศีรษะรวมทั้งฝังอยู่ที่เคราปลอมของเขา

ลูกปัดแก้วเป็นเครื่องประดับที่หรูหราในยุคอียิปต์โบราณ มันไม่ได้ใช้กันอย่างแพร่หลาย ยกเว้นในหลุมฝังศพของชนชั้นสูงที่ถูกคัดเลือก แต่ก็มีปริมาณจำกัด อาจยังอธิบายไม่ได้ว่าลูกปัดโคบอลต์ที่เหมาะกับกษัตริย์ในดินแดนหนึ่งมาจบลงในการฝังศพของชาวนอร์ดิกอย่างไร แต่โคล เฟลมมิ่ง (Kaul Flemming) และ เจเนตต์ วาร์เบิร์ก (Jeanette Varberg) คาดเดาว่าดินแดนโบราณทั้งสองแห่งแลกเปลี่ยนลูกปัดแก้วอันหรูหรากับอำพัน

“เดนมาร์กอุดมไปด้วยอำพัน และเป็นสินค้าแลกเปลี่ยนหลักจากทางเหนือ” วาร์เบิร์กกล่าว

อำพันนอร์ดิกในไมซีนี (Mycenae)

ลูกปัดแก้วของอียิปต์และเมโสโปเตเมียที่พบในหลุมฝังศพในเดนมาร์ก บ่งชี้ว่ามีการค้าขายเมื่อ 3000 ปีก่อน และในทางกลับกันอำพันนอร์ดิกถูกพบทางตอนใต้ เช่นเดียวกับในไมซีนี (Mycenae) เมืองโบราณสมัยสำริดก่อนยุคเฮเลนิก ประเทศกรีซ และที่กัตนา (Qatna) เมืองโบราณ ใกล้เมืองฮอมส์ ในประเทศซีเรีย

ร่วมกับการค้นพบอื่นๆ เช่น ทองแดงไซปรัสที่พบในสวีเดน ภาพของระบบการค้าที่ซับซ้อนก็ปรากฏขึ้น นอกจากนี้ลูกปัดอำพันของชาวนอร์ดิกเช่นเดียวกับลูกปัดที่ทำจากแก้วอียิปต์และแท่งทองแดงยังเป็นส่วนหนึ่งของสินค้าล้ำค่าที่พบในซากเรือสินค้าโบราณอับปางที่ได้รับการเรียกขานว่า “อูลูบูรุน” (Uluburun) ในแถบ Uluburun นอกชายฝั่งตุรกี

“ลูกปัดแก้วเดินทางไปตามถนนสายเดียวกับอำพัน แก้วดังกล่าวมาจากเมโสโปเตเมียและอียิปต์ไปทางเหนือในขณะที่อำพันมาจากทางเหนือและไปถึงส่วนที่ไกลที่สุดของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและไกลออกไปยิ่งกว่านั้น” โคล เฟลมมิ่ง กล่าว

อย่างไรก็ตามการแลกเปลี่ยนแก้วนี้เกือบจะหยุดลงประมาณปี 1177 ก่อนคริสตศักราช – อาจเนื่องมาจากการโจมตีของชาวทะเล

“ระบบการค้าในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออกดูเหมือนจะพังทลายลงเมื่อประมาณ 1200 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งต้องเป็นเพราะช่วงเวลาที่มีปัญหาสงครามและความขัดแย้ง และการเกิดขึ้นของชาวเล การพังทลายนี้สามารถสังเกตได้ในการฝังศพของชาวนอร์ดิก ดูเหมือนว่าลูกปัดแก้วจะมาถึงทางเหนือน้อยลง” เฟลมมิงกล่าว

เขาเสริมว่า “อย่างไรก็ตามมีปรากฏการณ์ที่น่าสนใจเกิดขึ้นในเวลาเดียวกันในอิตาลี ใน Po Valley มีการจัดตั้งโรงงานใหม่ขึ้นโดยพวกเขาเปลี่ยนแก้วให้เป็นลูกปัดแก้ว นอกจากนี้ยังมีโรงงานขนาดใหญ่ที่พวกเขาแปรรูปอำพันนอร์ดิกจากก้อนธรรมชาติเป็นอัญมณีสำเร็จรูป”

อำพันซึ่งเป็นเรซินจากต้นไม้ฟอสซิลมีความเกี่ยวข้องกับเทพแห่งดวงอาทิตย์ทั้งในอียิปต์โบราณและในแถบนอร์ดิก / Credit: Moshe Gilad

บูชาพระอาทิตย์

นักวิจัยชาวเดนมาร์กเชื่อว่า ลูกปัดแก้วสีน้ำเงินที่ฝากไว้ในหลุมศพมีความสำคัญทางศาสนา นอกจากนี้แก้วและอำพันดูเหมือนจะเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิดทั้งในภาคเหนือและภาคใต้ “พบลูกปัดแก้วและอำพันอยู่ใกล้กัน เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องประดับชิ้นเดียวกัน โดยเป็นส่วนหนึ่งของสร้อยคอหรือที่แขนซ้าย” เฟลมมิงกล่าว

นักโบราณคดีเชื่อว่า การวางเคียงกันของแก้วและอำพันนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ค่านิยมทางสังคมโดยเฉพาะจะถูกถ่ายทอดโดยการสวมสารทั้งสองเข้าด้วยกัน เป็นคนที่อยู่ในสังคมระดับสูงสุดที่ควบคุมการรวบรวมและการแจกจ่ายอำพัน ได้รับประโยชน์จากการส่งออก และคนที่เป็นผู้รับลูกปัดแก้วที่มีคุณค่าและแปลกใหม่

นอกเหนือจากสัญญาณทางสังคมแล้ว นักวิจัยยังเชื่อว่าลูกปัดแก้วและอำพันอาจมีคุณค่าเชิงสัญลักษณ์หรือเวทมนตร์ร่วมกัน ซึ่งทำให้เป็นผลดีเมื่อพกพาไปด้วยกัน

อำพันสีทองโปร่งแสงน่าจะสื่อถึงสัญลักษณ์แสงอาทิตย์

ตามตำนานเทพเจ้าและเทพนิยายของกรีก อำพันเป็นน้ำตาของธิดาแห่งเทพดวงอาทิตย์ “เฮลิออส” (Helios) หรือตามที่ “อพอลโลเนียสแห่งโรดส์” (Apollonius of Rhodes) กวีและนักเขียนชาวกรีกระบุ อำพันเป็นน้ำตาที่หลั่งโดยเทพแห่งดวงอาทิตย์ “อะพอลโล” (Apollo) เมื่อเขาไปเยือนดินแดนไฮเปอร์โบเรีย (Hyperboreans : ชาวสแกนดิเนเวียโบราณ) และได้ยินเกี่ยวกับการตายของลูกชายของเขา

โดยทั่วไปแล้วสีฟ้าจะเกี่ยวข้องกับท้องฟ้าและกับน้ำทะเล ทะเลสาบ และแม่น้ำ ในอียิปต์โบราณสีน้ำเงินมีความเกี่ยวข้องกับชีวิตและการเกิดใหม่เป็นพิเศษ และเป็นตัวแทน-ความอุดมสมบูรณ์-ของแม่น้ำไนล์ สวรรค์ รวมทั้งน่านน้ำในยุคดึกดำบรรพ์ที่หลั่งจากดวงอาทิตย์ ซึ่งเทพรา (Ra) ถือกำเนิดหรือถูกสร้างขึ้น ดังนั้นในอียิปต์สีฟ้าจึงเกี่ยวข้องกับตำนานการสร้างเช่นเดียวกับการกำเนิดใหม่ของดวงอาทิตย์ทุกเช้า

“ถ้าเราปล่อยให้ตัวเราเองพิจารณาคุณสมบัติทางเวทมนตร์ที่เป็นตำนานและเชื่อมโยงกันของแก้วและอำพันในยุคสำริดเหนือ (Bronze Age North) ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องยากที่จะรับรู้ถึงคุณค่าทางเวทมนตร์ของวัสดุเหล่านี้ที่มีพลังเพิ่มพูนเมื่อนำมารวมกันอย่างใกล้ชิด เฟลมมิงกล่าวและเสริมว่า “ในทางลึกลับ สีของอำพันและสีของแก้ว – เมื่อทำงานร่วมกัน – อาจทำให้เกิดเรื่องเล่าเกี่ยวกับตำนานที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางของดวงอาทิตย์ชั่วนิรันดร์: ในสวรรค์ ในความลึกของใต้พิภพ รวมทั้งทะเลด้วย”

“ ลัทธิบูชาดวงอาทิตย์ในยุคสำริดของชาวนอร์ดิกมีความคล้ายคลึงกับศาสนาของอียิปต์” วาร์เบิร์กสรุป “และใช่ ฉันเห็นหลักฐานที่ชัดเจนเกี่ยวกับแนวคิดที่เดินทางไปตามเส้นทางแลกเปลี่ยนเดียวกันกับอำพันและแก้ว”

 

Source: https://www.haaretz.com